การไปฝึกเจริญสตินั้น พระอาจารย์ไม่ได้สอนการเจริญสติอย่างเดียว แต่ยังขัดเกลามารยาทให้พร้อม เช่น เวลาจะลุก จะนั่ง ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง และสิ่งที่เราจำได้ติดใจคือ พระอาจารย์สอนว่า อย่าให้ร่างกายของเราไปทำความทุกข์ให้ผู้อื่น
วันที่สองพระอาจารย์สอนเรื่องการรับประทานอาหาร ก็ให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติะรรมล้อมวงเป็นวงใหญ่ ๆ เอาจานอาหารวางไว้ตรงหน้า พระอาจารย์สอนว่า เวลารับประทาน ให้มีสติ อย่าตักอาหารเสียงดัง อย่าตักอาหารคำโต อย่าอ้าปากรอ ให้อ้าปากเมื่อตักอาหารมาถึงปากแล้ว เคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียด อย่าเคี้ยวจนแก้มพอง อย่าเคี้ยวเสียงดัง อย่าคุยกันเมื่อรับประทานอาหาร ตักอาหารทีละคำ ระหว่างเคี้ยวให้วางช้อนไว้ก่อน ให้มีสติขณะเคี้ยว และสังเกตว่ามีความคิดอะไรตกไปในอาหารคำที่เรากำลังเคี้ยว เมื่อรับประทานเสร็จแล้วพระอาจารย์ก็ถามพวกเราว่า มีใครมีความคิดอะไรตกลงไปในอาหารที่เรารับประทานบ้าง เราก็ยกมือ
วันต่อมา พระอาจารย์ให้ล้อมวงรับประทานอาหารเหมือนเดิม ขณะที่หลายคนกำลังตักอาหารเข้าปาก พระอาจารย์คงสังเกตว่าไม่สำรวม บางคนก็รีบตักเสียงดัง บางคนก็อ้าปากรออาหาร พระอาจารย์ก็สั่งให้หยุด แล้วให้จับคู่กัน หันหน้าเข้าหากัน แล้วแลกจานอาหาร ให้เราเอาจานอาหารเพื่อนมาไว้ตรงหน้า และเอาจานเราไปไว้ตรงหน้าเพื่อน แล้วพระอาจารย์ก็สั่งให้ป้อนอาหารให้กัน เราก็จับคู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ทันทีที่มองหน้าเพื่อนคนนั้น คงเป็นด้วยอานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรม ทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของคนได้ดี เรารู้สึกถึงความปรารถนาดีของเพื่อนที่จับคู่ด้วย มันเหมือนเป็นไอเย็น ๆ ที่ไหลวูบมาจับใจ รู้ว่าคนตรงหน้านี้เป็นคนจิตใจดีจากข้างใน เมื่อเพื่อนป้อนอาหารให้เรา เธอก็เอามือเธอมารองที่คางเราด้วย อดหัวเราะไม่ได้เหมือนเธอป้อนอาหารเด็กเลย ขณะกำลังเปลี่ยนกันป้อนอาหาร ก็ได้ยินเสียงพระอาจารย์พูดว่า "อย่ากินข้าวเพื่อน" "กินข้าวเพื่อนทำไม" เราหลุดจากการสำรวม หัวเราะแบบอดไม่ได้ สงสัยว่าเพื่อนคงจะป้อนช้า หรือป้อนไม่ถนัด ก็เลยตักข้าวจากจานของเพื่อนที่อยู่ต่อหน้าตัวเองมากินซะเลย เราสองคนกับเพื่อนพากันหัวเราะ จนต้องเตือนกันเองว่าให้สำรวมและป้อนข้าวกันต่อ
No comments:
Post a Comment